จอมปราสาท
จอม ปราสาท สันนิษฐานว่า เป็น “ปราสาท”ที่นิยมสร้างในวัฒนธรรมแบบเขมรวัชรยาน โดยส่วนฐานก่อด้วยศิลาแลง มีมุขยื่นออกไปทั้งสี่ด้าน
ที่จอมปราสาทมีการขุดพบพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวรเปล่งรัศมีสลักจากหินทราย ไม่มีเศียร (คงไปอยู่ในบ้านผู้ลาภมากดีแล้ว) ตั้งแต่ปี 2509 พระวรกายของพระโพธิสัตว์โลเกศวรเปล่งรัศมี ตอนบนมีจะสลักรูปพระอมิตาภะปางสมาธิโดยรอบพระวรกราย และมีรูปนางปรัชญาปารมิตาประทับนั่งถือดอกบัวอยู่ที่บั้นเอวสามองค์และที่ พระอุระ(อก)อีกหนึ่งองค์ เบื้องล่างทรงผ้าโจงกระเบนสั้น ทิ้งชายผ้ามาด้านหน้า เป็นความนิยมในศิลปะเขมรแบบบายน ในราวพุทธศตวรรษที่ 18
พระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวรเปล่งรัศมี เป็นรูปเคารพสำคัญของลัทธิ “โลเกศวร” ซึ่งแตกออกมาจากศาสนาพุทธนิกายวัชรยานตันตระ เป็นคติที่นิยมเฉพาะในช่วงสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 เท่านั้นครับ เขาถือพระโลกเกศวรเปล่งรัศมีว่า “พระองค์เป็นประหนึ่งวิญญาณของจักรวาลที่ได้เปล่งประกายสารัตถะแห่งการช่วย เหลือสัตว์โลกให้หลุดพ้นจากภาวะทั้งปวง และ ความรอบรู้ชั้นสูงสุดยอดที่จะเผยแผ่ให้คงอยู่ได้ยาวนานตลอดไปด้วยจำนวนมาก มายที่มีอยู่ของบรรดาพระพุทธองค์ทั้งหลายอันอยู่รอบพระวรกาย”
ตอน ขุดค้นในปี 2509 นั้นก็ได้พบลวดลายปูนปั้นที่ใช้เป็นเครื่องประดับตกแต่งส่วนต่าง ๆ ของโบราณสถานจอมปราสาท ทำเป็นรูปเทพเจ้า มนุษย์ อมนุษย์ และรูปสัตว์ต่าง ๆ เช่น นาค สิงห์ สิงห์ ช้าง ฯลฯ จำนวนมาก ส่วนใหญ่มีขนาดเล็ก แต่ลวดลายปูนปั้นมีลักษณะเฉพาะแตกต่างไปจากศิลปะแบบบายนที่ประเทศกัมพูชา ด้วยมีร่องรอยการผสมผสานศิลปะแบบจีนและทวารวดีในท้องถิ่นเข้าไปด้วย
ปัจจุบัน ปูนปั้นและกระเบื้องเชิงชายของจอมปราสาท จัดแสดงอยู่ในพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติอู่ทองและพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ ราชบุรีครับ ส่วนที่ถูกผู้คนในยุคก่อน ๆ เก็บไปสะสมก็มีมาก หายไปตามสายลมและแสงแดดก็เยอะ
เมือง โกสินารายณ์เป็นเมืองที่มีระบบชลประทานแบบใช้ “บาราย” ขนาด ใหญ่แบบเขมรโบราณ เป็นที่กักเก็บน้ำเพื่อใช้ในหน้าแล้ง จากหลักฐานสระน้ำหลายแห่งภายในตัวเมืองและบริเวณใกล้เคียง ทั้งยังพบร่องรอยการขุดคลองเชื่อมต่อกับแม่น้ำแม่กลองเพื่อนำน้ำมาใช้หมุน เวียนในตัวเมือง เป็นระบบการกำจัดมลภาวะทางน้ำจากการอุปโภคบริโภคอีกด้วย
เมื่อ เวลาเปลี่ยนแปลงไปกว่า 800 ปี ถนนทันสมัยตัดขนานไปตามลำแม่น้ำกลอง ชุมชนก็ขยายตัว จากทุ่งป่ารกร้าง ก็กลายมาเป็นเมืองตามเส้นทางแห่งความเจริญ ปราสาทจอมปราสาทถูกรื้อไปเมื่อใดไม่ชัดเจนนัก สระน้ำทั้งสี่ก็หายไป ตื้นเขินและถูกไถถม คงเหลือแต่ สระโกสินารายณ์ ที่ตั้งอยู่ทางทิศเหนือติดกับกำแพงเมืองเดิม